fbpx

back

กฎ 25 ข้อของ ปีเตอร์ ลินช์

ผมเพิ่งได้มีโอกาสกลับมาอ่านหนังสือที่มีชื่อว่า “Beating the Street” ซึ่งในนั้นมีบทสรุปการลงทุนของผู้จัดการกองทุนระดับตำนานอย่างปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) ที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากการบริหารกองทุนให้กับ Fidelity Magellan ซึ่งประวัติการลงทุน สไตล์การเลือกหุ้น ผมจะขอยกมาเล่าให้ฟังอีกครั้งในโอกาสหน้า แต่วันนี้…จะมีบางช่วงบางตอนของหนังสือ ที่เกี่ยวกับกฎ 25 ข้อ ของการลงทุนในหุ้นครับ

(หนังสือต้นฉบับ และฉบับแปลไทย)

1. การลงทุนเป็นเรื่องที่สนุก ตื่นเต้น (โดยเฉพาะเวลากำไร) แต่ก็เป็นเรื่องที่อันตรายมากหากลงทุนแล้วคุณไม่ทำอะไรเลย ไม่ได้ตามข่าวสาร ไม่ได้ศึกษาตัวบริษัท ไม่ได้มานั่งเปรียบเทียบกองทุน ทำเพียงแค่ “ซื้อ … เพราะราคามันขึ้น” แบบนี้การลงทุนนั้นก็พร้อมจะ “ปล้น” เงินของคุณไปทันที

2. แค่คุณลงทุนในบริษัทที่คุณรู้จักและเข้าใจเป็นอย่างดี คุณก็สามารถชนะบรรดากูรู และตลาดหุ้นได้อย่างง่ายดาย

3. คุณสามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ง่าย ๆ เพียงแค่อยู่ห่าง ๆ จากฝูงชน เพราะการอยู่ท่ามกลางความเห็นของคนหลาย ๆ คน คุณอาจสูญเสียความเป็นตัวตน และทำอะไรที่มันดูไร้เหตุผลไปในที่สุด

4. เบื้องหลังหุ้นทุกตัวคือบริษัท และทุกบริษัททำธุรกิจ … คุณแค่ต้องไปดูว่าเขาทำมาหากินยังไง ได้เงินมาจากไหน อะไรคือความเสี่ยง และอะไรที่จะทำให้บริษัทนั้นเติบโต

5. ราคาหุ้น จะขึ้นตามกำไรของบริษัท แม้จะมีหลายครั้งที่กำไรเติบโตสวนทางกับราคา แต่เชื่อเถอะ…ถ้ากำไรมันโตจริง ๆ  สุดท้ายยังไงราคาก็ต้องขึ้น

6. คุณต้องรู้ว่าคุณซื้อหุ้นอะไร เพราะอะไร ทำไมถึงซื้อ ไม่ใช่ซื้อแค่เพราะคิดว่ามันกำลังจะขึ้น

7. บริษัทที่กำลังจะมีปัญหา มักจะเริ่มด้วยคำว่า “ผิดคาด”

8. หุ้นในพอร์ต ก็เหมือนลูก … มีเยอะไปก็ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนมือใหม่ ที่ควรมีหุ้นอยู่ในพอร์ตซัก 5 บริษัทก็พอ เพราะคุณจะได้มีเวลาติดตามความเปลี่ยนแปลงของมัน

9. ถ้าเลือกหุ้นดี ๆ ที่ถูกใจไม่ได้ ก็จงฝากเงินไว้ในแบงค์ 

10. อย่าลงทุนถ้ายังไม่ได้ดูงบ เพราะหลายครั้งเรามักจะขาดทุนหนัก ๆ กับบริษัทที่มีงบการเงินไม่แข็งแกร่ง เพราะฉะนั้นอย่าลืมตรวจงบการเงิน ก่อนที่คุณจะเอาเงินที่หามาได้จากน้ำพักน้ำแรงของคุณไปเสี่ยงกับมัน

11. หนีให้ห่างจากหุ้นร้อน ที่ในอุตสาหกรรมที่ร้อนแรง และบริษัทยอดเยี่ยมในอุตสาหกรรมยอดแย่ มักเป็นบริษัทที่สร้างผลตอบแทนได้ดีเสมอ

12. ถ้าอยากซื้อหุ้นเล็ก … รอให้มันมีกำไรก่อน

13. ถ้าคุณกำลังจะซื้อในอุตสาหกรรมที่มีปัญหา … จงซื้อหุ้นที่มีความสามารถในการอยู่รอด และควรจะรอให้อุตสาหกรรมมีสัญญาณในการฟื้นตัวก่อน

14. ถ้าซื้อหุ้น 1,000 บาท โอกาสขาดทุนคือ 1,000 บาท แต่ก็มีโอกาสที่จะทำกำไรเป็น 10,000 บาท 50,000 บาทได้ หากคุณอดทน และให้เวลากับมันพอ

15. นักลงทุนรายย่อย … มักจะหาหุ้นชั้นยอด … ได้ก่อนนักลงทุนชั้นเยี่ยม หรือบรรดากูรูต่าง ๆ เสมอ และมันไม่ได้เป็นแบบนี้เฉพาะกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่มันเกิดขึ้นกับทุกตลาด…ทั่วโลก!

16. เหตุการณ์หุ้นตกหนัก … เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นประจำไม่ต่างจากฝนเดือนตุลา หากคุณเตรียมพร้อมไว้ มันก็จะไม่สามารถทำอะไรคุณได้ กลับกันมันเป็นโอกาสในการลงทุนสำหรับคนที่เข้าใจและพร้อมเสมอ (อันนี้ผมดัดแปลงจากต้นฉบับ ที่ยกตัวอย่างเหตุการณ์พายุเฮอริเคนมานะครับ)

17. ไม่ว่าใครก็สามารถมีความรู้พอที่จะทำกำไรในหุ้น … แต่น้อยคนนักที่จะมีอารมณ์มั่นคงพอที่จะไม่ตื่นตระหนก และหากคุณรู้ตัวว่าคุณเป็นนักลงทุนประเภทเมื่อเจอข่าวร้ายจะรีบแห่ขายทุกอย่างออกจากพอร์ต … เลิกเล่นหุ้นละมาซื้อกองทุนซะ

18. มันมักจะมีเรื่องให้เราได้ตื่นตระหนกเสมอ … จงขายหุ้นแค่เพราะเวลาที่พื้นฐานมันเปลี่ยน หรือขายตอนที่บริษัทเริ่มจะถอยหลังลงคลอง ไม่ใช่ขายเพราะว่าหุ้นทั้งตลาดกำลังถล่มลงมา

19. ไม่มีใครที่จะคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ในตลาดหุ้นได้ถูกหมด … หยุดฟังคนอื่น และเริ่มเชื่อตัวเอง จากนั้นก็เดินหน้าศึกษาบริษัทที่เราสนใจ

20. หุ้นดี ๆ มีอยู่เสมอ … คุณแค่ต้องหามันให้พบ

21. ถ้าซื้อหุ้นโดยไม่ศึกษาอะไรเลย … มันก็ไม่ต่างจากคนเล่นไพ่ที่ไม่ได้ดูไพ่

22. เวลาคือเพื่อนที่ดีที่สุดของคุณ พยายามลงทุนเพื่อระยะยาวไว้

23. ถ้าคุณอยู่ในสภาวะอารมณ์ไม่มั่นคง อย่าซื้อหุ้น แต่จงซื้อกองทุนที่เขาเลือกหุ้นให้แล้ว

24. ตลาดหุ้นในประเทศ ไม่ได้สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ตลอดทุกปี คุณควรหาโอกาสในการไปลงทุนยังต่างประเทศ ผ่านกองทุนรวม และกระจายความเสี่ยงไว้บ้าง

25. ในระยะยาวแล้ว หุ้นสร้างผลตอบแทนได้ดีที่สุด แต่ถ้าหลับหูหลับตาเลือกหุ้น บางทีการเอาเงินใส่ไว้ใต้หมอนอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ

Related Activities

เราอาจกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรฐกิจครั้งใหญ่

เดี๋ยวนี้นั่งอ่านข่าวเศรษฐกิจ เจอคำนี้บ่อยมาก “Global Synchronized Slowdown” ซึ่งพูดถึงภาวะที่เศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศแย่ลงพร้อมๆ กัน

อ่านต่อ

ยื่นภาษีเสร็จแล้ว จะยกเลิกประกันชีวิตใช่ไหม?

“เรื่องที่ผมกำลังจะเล่าต่อไปนี้ อาจทำให้ผู้เสียภาษีบางรายต้องขนลุกขนพองสยองเกล้า …”

อ่านต่อ

ภาษี e-Payment

สืบเนื่องจากที่สรรพากร ได้ออก พรบ. เพื่อจะจัดเก็บภาษีธุรกรรมลักษณะเฉพาะ หรือภาษี e-Payment

อ่านต่อ